โครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 53 พ.ศ. 2566

ชื่อโครงการ

โครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 53 พ.ศ. 2566

หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันการศึกษาวิชานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย  เป็นการศึกษาในวิชากฎหมายพื้นฐานในเรื่องต่างๆ การเรียนการสอนไม่ได้แยกการศึกษากฎหมายออกเป็นสาขาเฉพาะทาง ดังนั้นบัณฑิตนิติศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย  จึงไม่สามารถเป็นผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายสาขาต่างๆ ได้อย่างลึกซึ้งรอบด้าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขากฎหมายมหาชนซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญสำหรับนักกฎหมายผู้ประกอบวิชาชีพในภาครัฐ  ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้บริหารงานหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานภาครัฐหรือบุคลกรในภาคเอกชนเป็นจำนวนมากไม่ได้ศึกษากฎหมายในระดับปริญญาตรีแต่การปฏิบัติงานในหน่วยงานที่สังกัดมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนซึ่งต้องการความรู้ความเข้าใจในวิชากฎหมายมหาชนโดยเฉพาะ

การขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมหาชนของนักกฎหมายหรือผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ใช่นักกฎหมายที่ปฏิบัติงานในภาครัฐดังกล่าวมาข้างต้น ทำให้หน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจจำเป็นต้องจัดให้มีการอบรมเป็นการภายใน  หรือจัดให้มีการศึกษาจากประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติงานในหน่วยงานนั้นๆ เพื่อให้นักกฎหมายผู้ปฏิบัติงานสามารถปฏิบัติงานได้  และมีประสบการณ์การทำงานที่มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การอบรมหรือการให้การศึกษาที่มีข้อจำกัดของระยะเวลา ข้อจำกัดทางด้านความสามารถในการถ่ายทอดทางวิชาการกฎหมายทำให้ขาดการปูพื้นฐานความรู้ทางกฎหมายที่ถูกต้อง บางกรณีอาจก่อให้เกิดความเสียหายและก่อผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของราษฎรผู้เกี่ยวข้อง  นอกจากนี้การขาดการอบรมและศึกษานิติวิธีทางกฎหมายมหาชนทำให้นักกฎหมายอาจนำเอาหลักการและวิธีคิดของกฎหมายเอกชน  ซึ่งมีเนื้อหาที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันไปปรับใช้กับการดำเนินภารกิจในภาครัฐ  ซึ่งกฎหมายทั้งสองสาขามีธรรมชาติและวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  สภาพการณ์ดังกล่าวย่อมทำให้การปฏิบัติราชการและบริการสาธารณะไม่อาจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามที่ควรจะเป็น  อีกทั้งการอบรมและทดลองปฏิบัติงานภายในหน่วยงาน  ก็มักจำกัดกรอบและขอบเขตเฉพาะกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้นๆ เอง  ทำให้นักกฎหมาย ผู้บริหารงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลากรอื่นของหน่วยงานต่างๆ ขาดความรู้ความเข้าใจในระบบการบริหารงานภาครัฐทั้งระบบ  ทำให้ไม่สามารถเสนอแนวทางเพื่อการตัดสินใจหรือเพื่อประสานงานปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกรอบนโยบายของรัฐบาล และไม่สามารถวินิจฉัยให้ความเห็นในเรื่องที่ต้องมีการตัดสินใจร่วมกันในภารกิจที่ต้องมีความเกี่ยวข้องในระหว่างหลายหน่วยงานได้

แม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 จะมีวัตถุประสงค์หลักในการแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงมุ่งสนับสนุนส่งเสริมการปกครองตามหลักการของนิติรัฐซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยหลักนิติรัฐมุ่งปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะเห็นได้จากการคงบทบัญญัติที่รับรององค์กรควบคุมตรวจสอบต่างๆ ที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย อาทิเช่น ศาลปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่ควบคู่กันไปกับสถาบันทางการเมืองและทางกฎหมายที่มีอยู่เดิมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ในรอบทศวรรษที่ผ่านมากฎหมายมหาชนหลายฉบับได้รับการแก้ไขให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิเช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2550 เป็นต้น ในขณะเดียวกันกฎหมายมหาชนใหม่ๆ ได้ถูกร่างขึ้นและบังคับใช้เพื่อการควบคุมตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และสนับสนุนการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาลที่ดี อาทิเช่น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 รวมทั้งกฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับสถาบันการเงินอีกหลายฉบับ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงรากฐานและกระบวนการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ในภาครัฐเสียใหม่ให้เป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและเป็นไปตามหลักการบริหารจัดการภาครัฐรูปแบบใหม่ (New Public Management) ภายใต้แนวความคิดทางกฎหมายมหาชนสมัยใหม่ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างรวดเร็วในสังคมไทย

ยิ่งไปกว่านั้นเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปแล้วว่าในปัจจุบันนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการพัฒนาแก้ไขปัญหาทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องใช้กฎหมายมหาชนในการบริหารประเทศและในการรักษาความสงบเรียบร้อยตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น กฎหมายมหาชนจึงกลายเป็นเป้าหมายของสังคมในการปฏิรูปการเมืองและระบบราชการ ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้การศึกษากฎหมายมหาชนยิ่งเพิ่มความสำคัญและเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไปมากขึ้นอีก

ด้วยเล็งเห็นถึงเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวมา และเพื่อเป็นการจัดเตรียมบุคลากรของภาครัฐให้มี
ความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวคิดและวิธีการบังคับใช้กฎหมายมหาชนที่ถูกต้อง คณะนิติศาสตร์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานศาลปกครองจึงได้จัดทำหลักสูตรการอบรมกฎหมายมหาชนเพื่อบุคลากรและนักกฎหมายในภาครัฐขึ้น ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสร้างนักกฎหมายมหาชนที่มีความรู้และความเข้าใจในกฎหมายมหาชนและสามารถบังคับใช้กฎหมายมหาชนได้อย่างถูกต้อง อันเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนองค์กรภาครัฐและเอกชนไปในทิศทางที่ดีขึ้น และตอบสนองต่อส่วนรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของการบริหารราชการแผ่นดินดังกล่าว

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ และเผยแพร่ความคิดและการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ
    เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน
  2. เพื่อผลิตนักกฎหมายในภาครัฐที่มีความเข้าใจพื้นฐานในทางกฎหมายมหาชน ให้มีความรู้
    ความเข้าใจในแนวความคิดทางทฤษฎีกฎหมายมหาชน และการบริหารงานภาครัฐในเชิงระบบ ตลอดจนสามารถนำความรู้ความเข้าใจดังกล่าวไปปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ทางกฎหมายที่ตนรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
  3. เป็นการตระเตรียมบุคลากรในภาครัฐ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นขององค์การและแนวความคิดทางกฎหมายมหาชนใหม่ ๆ
  4. เพื่อยกระดับคุณภาพผู้ที่เป็นนักกฎหมายอยู่แล้วให้มีความรู้ทางกฎหมายเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น

กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรม

กลุ่มผู้เข้าอบรม

ข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีคุณวุฒินิติศาสตร์บัณฑิตที่ดำรงตำแหน่งนิติกร หรือหน้าที่บริหารงาน  หรือมีคุณวุฒิหรือดำรงตำแหน่งอื่นที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการเข้าศึกษาหลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์แก่การปฏิบัติงาน  หรือเป็นผู้ที่มีคุณวุฒินิติศาสตรบัณฑิตที่ปฏิบัติงานอยู่ในองค์กรภาคเอกชน  ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการบริหารงานภาครัฐซึ่งผู้บังคับบัญชารับรองให้สมัครเข้ารับการอบรมได้ในฐานะตัวแทนขององค์กรภาคเอกชนนั้น ๆ

วิธีการสมัครอบรม

คณะนิติศาสตร์ จะจัดทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานราชการรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้หน่วยงานฯ คัดเลือกบุคลากรและส่งเข้ารับการอบรม

ผู้สมัครที่จะเข้ารับการอบรมได้ต้องได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานโดยให้หน่วยงานรับรองการเข้าอบรมตามแบบฟอร์มจากผู้บังคับบัญชา  (ผู้สมัครกรอกเป็นเอกสารยื่นผู้บังคับบัญชาอนุมัติและ กรอก Google Form พร้อมทั้งแนบใบสมัครมาด้วย)

ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ : shorturl.at/isIU9

กรอก Google Form ได้ที่ : https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLScvc79Py-BWzq_UecIqsJPta9VYqGyafSmMyJ7-ROfrLuJQTA/viewform

เอกสารการสมัคร_1.ใบสมัคร 2.รูปถ่ายสี 1.5นิ้ว  3.สำเนาปริญญาบัตร 4.คำรับรองผู้บังคับบัญชา 5.หนังสือส่งตัวจากหน่วยงาน

โดยหนึ่งปีจะเปิดอบรมเป็นสองรุ่น คือ ช่วงเดือน มีนาคม และ กันยายน ของทุกปี
(่กำหนดการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสมและสถานการณ์)

รุ่นที่ 53 : อบรมระหว่างวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2566 – วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566

 

 

ระยะเวลาอบรม

รุ่นที่ 53 :  อบรมระหว่างวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2566 – วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566

การอบรมต่อรุ่น เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน  ในแต่ละสัปดาห์จะอบรมทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (ยกเว้นวันพุธ) วันละ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 17.30-20.30 น. และวันเสาร์วันละ6 ชั่วโมง  ตั้งแต่เวลา 9.00 – 16.00 น. โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 201 ชั่วโมง แบ่งเป็นดังนี้

  1. การอบรมและดูงานจำนวน 171 ชั่วโมง

– การอบรม จำนวน 156 ชั่วโมง

– การดูงานจำนวน 3 ครั้ง รวม จำนวน 15 ชั่วโมง ดังนี้

ครั้งที่ 1  ดูงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

จำนวน 6 ชั่วโมง  ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.

ครั้งที่ 2  ดูงาน ณ สำนักงานศาลปกครอง

จำนวน 6 ชั่วโมง  ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.

ครั้งที่ 3  ดูงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง

จำนวน 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.

  1. การสัมมนาต่างจังหวัด จำนวน 1 ครั้ง ( 2 วัน) (24 ชั่วโมง)
  2. การอภิปราย ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการผู้เข้าอบรมโครงการฯ จำนวน 3 ชั่งโมง
  3. การทดสอบผู้เข้ารับการอบรมทั้งก่อนเข้ารับการอบรม (1.5 ชั่วโมง)

และหลังจากอบรมทุกรายวิชา (1.5 ชั่งโมง)

หลักสูตรการอบรม

 

ประกอบด้วยกลุ่มวิชาต่าง ๆ 4 กลุ่มด้วยกัน  กล่าวคือ  กลุ่มแนวความคิดและทฤษฎีกฎหมายมหาชนทั่วไป  กลุ่มกฎหมายรัฐธรรมนูญ  กลุ่มกฎหมายปกครอง  และกลุ่มกฎหมายการคลังและภาษีอากร  ใน 4 กลุ่มวิชาดังกล่าว  นอกจากศึกษาถึงหลักการและแนวความคิดทั่วไปแล้ว การจัดหลักสูตรการศึกษายังนำเอาเนื้อหาวิชาที่มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษากฎหมายมหาชนมาบรรจุไว้ในหลักสูตรด้วย อาทิเช่น นิติบุคคลในกฎหมายมหาชน  กฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดิน อุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการบริหารรัฐวิสาหกิจไทย  ระบบการควบคุมและแนวทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย ข้อความคิดว่าด้วยสัญญาทางปกครอง การตรวจร่างสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุด หลักการและขั้นตอนการปฏิบัติที่สำคัญในกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการของฝ่ายปกครอง  ความรับผิดของฝ่ายปกครอง  หลักการสำคัญของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวทางการควบคุมฝ่ายปกครองโดยศาลยุติธรรมของไทยในปัจจุบัน เขตอำนาจศาลวิธีพิจารณาและผลของคำพิพากษาของศาลปกครอง ระบบและวิธีการงบประมาณไทย  ระบบการจัดเก็บภาษีอากรในประเทศไทย ลักษณะพิเศษของการตัดสินใจในระดับนโยบายของคณะรัฐมนตรี แนวคิดและหลักการของกฎหมายว่าด้วยข้อข่าวสารทางราชการ เป็นต้น

นอกจากการให้การอบรมในเชิงทฤษฎีแล้ว  หลักสูตรนี้ยังจัดให้มีการอบรมในภาคปฏิบัติด้วยโดย (1) เน้นการทำแบบฝึกหัด เช่น การให้ความเห็นและการตอบข้อหารือในปัญหากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา การตรวจร่างกฎหมายของกระทรวง  ทบวง  กรม  ต่างๆ  โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา (2) การทำกรณีศึกษา (Case study) และ (3) การดูงานเรื่องกระบวนวิธีพิจารณาทางปกครองที่ศาลปกครองกลาง กรุงเทพมหานครอีกด้วย

วิทยากร

คณาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ / อาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  /ผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม  และจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ เป็นต้น

ค่าอบรม

ค่าสมัครอบรม คนละ 30,000 บาท

การชำระเงิน: เงินโอนผ่าน ธนาคารกรุงเทพ สาขา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์-ท่าพระจันทร์
เลขที่บัญชี: 905-0-02515-5
ชื่อบัญชี: คณะนิติศาสตร์ มธ. (ศูนย์จัดการศึกษาและฝึกอบรมด้านกฎหมาย)
หมายเหตุ กรุณาส่งหลักฐานการชำระเงินพร้อมแจ้ง ชื่อ ที่อยู่ ในการออกใบเสร็จรับเงินที่ และกรอกข้อมูลแจ้งการออกใบเสร็จ
Line:@leteclawtu/  หรือEmail: letec.lawtu@gmail.com

สถานที่อบรม

ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

 

วุฒิบัตร

ผู้ที่เข้าอบรมอย่างน้อย 80% จะได้รับประกาศนียบัตรจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

รุ่นที่ 53_อบรมระหว่างวันจันทร์ที่ 18 กันยายน 2566 – วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม 2566

เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5-6 วัน  ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ (ช่วงเย็น) และวันเสาร์ (เต็มวัน)