ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายคนอาจจะเคยได้ยินและให้ความสนใจกับ buzzwords ที่เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการใช้ในอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร และการลงทุน เช่น บล็อกเชน (Blockchain technology) NFTs (Non-Fungible Tokens) คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และบิตคอยน์ (Bitcoin) เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์กับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนที่นำเทคโนโลยีมาใช้
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ก็นำมาซึ่งความท้าทายและความไม่ชัดเจนขึ้นพร้อมกัน โดยเฉพาะในเรื่องแนวนโยบาย กฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับอยู่เดิมนั้นอาจจะไม่เหมาะสม ไม่เพียงพอต่อการที่จะมาปรับใช้ในการกำกับดูแลและส่งเสริมการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้แล้วภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานผู้กำกับดูแลจะต้องดำเนินการอย่างไร
หน่วยงานผู้กำกับดูแลจึงอาจประสบกับความท้าทายในการหาจุดสมดุลระหว่างการกำกับดูแล กล่าวคือจะต้องพิจารณาถึงกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยี ในขณะเดียวกันก็ควรที่จะต้องสนับสนุนส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์และต่อยอดเทคโนโลยีดังกล่าว และคำนึงเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาดไปพร้อมกัน
ความพยายามหาจุดสมดุลข้างต้น ได้ถูกสะท้อนให้เห็นผ่านทางกฎหมาย กฎเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในหลายประเทศ ซึ่งมีแนวทางในการกำกับดูแลการนำเทคโนโลยีใหม่ไปใช้ กำกับดูแลกรณีของสินทรัพย์คริปโทและธุรกิจที่เกี่ยวข้องแตกต่างกันไป ทั้งนี้เป็นไปตามบริบทและความพร้อมแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เช่นในเรื่องปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน แนวนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ ที่แตกต่างกัน ประเด็นในเรื่องของหน่วยงานผู้กำกับดูแล ประเด็นเรื่องความพร้อมและทรัพยากรที่จำเป็น เช่น ทรัพยากรบุคคล และอื่น ๆ รวมถึงประเด็นเรื่องการศึกษากรอบกฎหมาย กฎเกณฑ์ และแนวทางในการกำกับดูแลของแต่ละประเทศ เป็นต้น
จากปัจจัยต่าง ๆ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดหลักสูตรการอบรมนี้ขึ้นเพื่อทำให้เห็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีไปใช้ อันนำมาซึ่งความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงไปของแนวทางในการกำกับดูแลโดยการออกกฎหมายและกฎเกณฑ์ใหม่ แนวทางในการการกำกับดูแลโดยการปรับใช้กฎหมาย กฎเกณฑ์ที่มีอยู่เดิม แนวทางในการกำกับดูแลโดยใช้ innovative regulative tools (ใช้ประกอบเพื่อให้การกำกับดูแลมีความยืดหยุ่น และครอบคลุมถึงกรณีที่กฎหมาย กฎเกณฑ์ไม่ได้กำหนดไว้เฉพาะเจาะจงอยู่เดิม) และแนวทางในการกำกับดูแลด้วยตนเอง (self-regulatory initiatives) ดังนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงนักกฎหมายเองก็มีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจลักษณะของเทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อปรับใช้กฎหมายอย่างเหมาะสม รวมไปถึงการออกแบบแนวนโยบาย กฎหมาย กฎเกณฑ์ที่เหมาะสม ให้มีความยืดหยุ่น สามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ