โครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน รุ่น 55

ชื่อโครงการ

โครงการอบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน รุ่น 55

หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันการศึกษาวิชานิติศาสตร์ระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย  เป็นการศึกษาวิชากฎหมายพื้นฐานในเรื่องต่าง ๆ โดยการเรียนการสอนไม่ได้แยกการศึกษากฎหมายออกเป็นสาขาเฉพาะทาง ดังนั้นบัณฑิต
ทางนิติศาสตร์ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย  จึงอาจยังไม่มีความรู้เชี่ยวชาญในกฎหมายสาขาต่าง ๆ อย่างลึกซึ้งรอบด้าน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขากฎหมายมหาชนซึ่งเป็นกฎหมายที่สำคัญสำหรับนักกฎหมาย
ผู้ประกอบวิชาชีพในภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้นยังพบว่าผู้บริหารหรือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในหน่วยงานของรัฐเป็นจำนวนมากไม่ได้ศึกษากฎหมายในระดับชั้นปริญญาตรี แต่การปฏิบัติงานของบุคคลเหล่านี้กลับมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนและต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในวิชากฎหมายสาขาดังกล่าวเป็นอย่างมาก

การขาดความรู้ความเข้าใจในกฎหมายมหาชนของนักกฎหมายหรือผู้ปฏิบัติงานที่ไม่ใช่นักกฎหมายข้างต้น ทำให้หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ จำต้องจัดให้มีการอบรมบุคลากรเป็นการภายใน หรือจัดให้มีการศึกษากฎหมายจากประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติงานในหน่วยงานนั้น ๆ เพื่อให้บุคคลเหล่านี้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามการอบรมหรือการให้การศึกษาที่มีข้อจำกัดด้านระยะเวลา และข้อจำกัดด้านความสามารถในการถ่ายทอดวิชาการทางกฎหมาย ย่อมทำให้ขาดการปูพื้นฐานความรู้ที่ถูกต้อง บางกรณีจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายและผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้เกี่ยวข้องได้ นอกจากนี้การขาดความเข้าใจเกี่ยวกับนิติวิธีทางกฎหมายมหาชนยังอาจทำให้มีการนำเอาหลักการและวิธีคิดแบบกฎหมายเอกชนมาปรับใช้
ทั้ง ๆ ที่ กฎหมายทั้งสองสาขามีธรรมชาติ (nature) และวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน  สภาพการณ์ดังกล่าวย่อม
ทำให้การปฏิบัติงานไม่อาจดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพตามที่ควรจะเป็น อีกทั้งการอบรมและทดลองปฏิบัติงานภายในหน่วยงานก็มักจำกัดกรอบและขอบเขตเฉพาะกฎหมายและระเบียบข้อบังคับภายในที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้น ๆ เองเท่านั้น ทำให้ขาดความรู้ความเข้าใจในระบบการบริหารงานภาครัฐทั้งระบบ ซึ่งลักษณะเช่นนี้อาจส่งผลให้ไม่สามารถเสนอแนวทางเพื่อการตัดสินใจหรือเพื่อประสานและปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกรอบนโยบายของรัฐบาล รวมทั้งไม่สามารถวินิจฉัยให้ความเห็นในภารกิจที่ต้องมีการตัดสินใจร่วมกันในระหว่าง
หลายหน่วยงานได้

แม้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันคือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะตราขึ้นเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 กระนั้น สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังคงมุ่งสนับสนุนส่งเสริมการปกครองตาม “หลักนิติรัฐ”
ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของรัฐเสรีประชาธิปไตยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2560 ยังคงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับบรรดาองค์กรตรวจสอบต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่ตามรัฐธรรมนูญฯ พุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 เช่น ศาลปกครอง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐควบคู่กันไปกับสถาบันทางการเมืองและทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม

ในชั้นของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและอนุบัญญัตินั้น นับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นต้นมา มีการตรากฎหมายใหม่ขึ้นหลายฉบับเพื่อก่อตั้งระบบการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ
วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 รวมทั้งตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 อันมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐรูปแบบใหม่ (New Public Management) ตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งกฎเกณฑ์ทั้งหลายเหล่านี้ได้รับการยอมรับอย่างรวดเร็วในสังคมไทยในฐานะเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ยิ่งไปกว่านั้นเป็นที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไปว่า ณ ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงของการพยายามแก้ไขปัญหาทางสังคม/การเมืองที่กำลังเกิดขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวย่อมเกี่ยวพันกับกฎหมายมหาชนในฐานะ
เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงระเบียบแบบแผนความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนผู้อยู่ภายใต้การปกครองอย่าง
ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ปัจจัยข้างต้นจึงยิ่งส่งผลให้การศึกษากฎหมายมหาชนทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นและเป็น
ที่สนใจของบุคคลจำนวนมาก

ด้วยเล็งเห็นถึงเหตุผลความจำเป็นดังที่ได้อธิบายมา และเพื่อเป็นการจัดเตรียมบุคลากรภาครัฐให้มี
ความรู้ความเข้าใจในหลักการ แนวคิดทฤษฎี และวิธีการบังคับใช้กฎหมายมหาชนที่ถูกต้อง คณะนิติศาสตร์ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานศาลปกครองจึงได้จัดทำหลักสูตรการอบรมกฎหมายมหาชนเพื่อบุคลากรภาครัฐและบุคคลทั่วไปขึ้น โดยจัดเป็นหลักสูตรอบรมระยะสั้น ทั้งนี้ ด้วยความมุ่งหวังให้
ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายมหาชนและสามารถบังคับใช้กฎหมายมหาชนได้อย่างถูกต้อง อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานและสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นศูนย์กลางในการให้ความรู้ และเผยแพร่ความคิดและการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ
    เกี่ยวกับกฎหมายมหาชน
  2. เพื่อผลิตนักกฎหมายในภาครัฐที่มีความเข้าใจพื้นฐานในทางกฎหมายมหาชน ให้มีความรู้
    ความเข้าใจในแนวความคิดทางทฤษฎีกฎหมายมหาชน และการบริหารงานภาครัฐในเชิงระบบ ตลอดจนสามารถนำความรู้ความเข้าใจดังกล่าวไปปรับใช้กับการปฏิบัติหน้าที่ทางกฎหมายที่ตนรับผิดชอบอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
  3. เป็นการตระเตรียมบุคลากรในภาครัฐ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นขององค์การและแนวความคิดทางกฎหมายมหาชนใหม่ ๆ
  4. เพื่อยกระดับคุณภาพผู้ที่เป็นนักกฎหมายอยู่แล้วให้มีความรู้ทางกฎหมายเฉพาะด้านมากยิ่งขึ้น

กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรม

บุคลากรจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน

2 หนังสือเชิญเข้าอบรมมหาชน รุ่นที่ 55(1)
5. ใบสมัคร

ระยะเวลาอบรม

การอบรมต่อรุ่น (2รุ่นต่อปี) เป็นระยะเวลา 12 สัปดาห์ สัปดาห์ละ 5 วัน  ในแต่ละสัปดาห์จะอบรม
ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ วันละ 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 17.30 – 20.30 น. และวันเสาร์วันละ 6 ชั่วโมง  ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. โดยใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิ้น 198 ชั่วโมง แบ่งเป็นดังนี้

  1. การอบรมและดูงานจำนวน 168 ชั่วโมง

– การอบรม จำนวน 159 ชั่วโมง

– การดูงาน 2 ครั้ง รวม จำนวน 9 ชั่วโมง ดังนี้

ครั้งที่ 1  ดูงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

จำนวน 3 ชั่วโมง  ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น.

ครั้งที่ 2  ดูงาน ณ สำนักงานศาลปกครอง

จำนวน 6 ชั่วโมง  ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น.

  1. การสัมมนาต่างจังหวัด 1 ครั้ง (2 วัน) (24 ชั่วโมง)
  2. การอภิปราย ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการผู้เข้าอบรมโครงการฯ 1 ครั้ง จำนวน 3 ชั่วโมง
  3. การทดสอบผู้เข้ารับการอบรมทั้งก่อนเข้ารับการอบรม (1.5 ชั่วโมง) และหลังจากอบรมทุกรายวิชา (1.5 ชั่วโมง)

 

หลักสูตรการอบรม

ประกอบด้วยกลุ่มวิชาต่าง ๆ 4 กลุ่มด้วยกัน  กล่าวคือ  กลุ่มแนวความคิดและทฤษฎีกฎหมายมหาชนทั่วไป  กลุ่มกฎหมายรัฐธรรมนูญ  กลุ่มกฎหมายปกครอง  และกลุ่มกฎหมายการคลังและภาษีอากร  ใน 4 กลุ่มวิชาดังกล่าว  นอกจากศึกษาถึงหลักการและแนวความคิดทั่วไปแล้ว การจัดหลักสูตรการศึกษายังนำเอาเนื้อหาวิชาที่มีความสำคัญ และเป็นประโยชน์สำหรับนักศึกษากฎหมายมหาชนมาบรรจุไว้ในหลักสูตรด้วย อาทิเช่น นิติบุคคลในกฎหมายมหาชน  กฎหมายระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดิน อุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการบริหารรัฐวิสาหกิจไทย  ระบบการควบคุมและแนวทางในการพัฒนารัฐวิสาหกิจไทย ข้อความคิดว่าด้วยสัญญาทางปกครอง การตรวจร่างสัญญาของสำนักงานอัยการสูงสุด หลักการและขั้นตอนการปฏิบัติที่สำคัญในกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการของฝ่ายปกครอง  ความรับผิดของฝ่ายปกครอง  หลักการสำคัญของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ แนวทางการควบคุมฝ่ายปกครองโดยศาลยุติธรรมของไทยในปัจจุบัน เขตอำนาจศาลวิธีพิจารณาและผลของคำพิพากษาของศาลปกครอง ระบบและวิธีการงบประมาณไทย  ระบบการจัดเก็บภาษีอากรในประเทศไทย ลักษณะพิเศษของการตัดสินใจในระดับนโยบายของคณะรัฐมนตรี แนวคิดและหลักการของกฎหมายว่าด้วยข้อข่าวสารทางราชการ เป็นต้น

วิทยากร

วิทยากรจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และจากหน่วยงานราชการและเอกชน

ค่าอบรม

ค่าลงทะเบียนคนละ 30,000 บาท

– ผู้เข้าอบรมจากหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจสามารถเบิกค่าสมัครเข้ารับการอบรมจากเงินงบประมาณของต้นสังกัดตามระเบียบว่าด้วยการดังกล่าวของกระทรวงการคลัง

ช่องทางการชำระเงิน :

– คณะนิติศาสตร์ มธ. (ศูนย์จัดการศึกษาและฝึกอบรมด้านกฎหมาย)

– ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน)

– เลขที่บัญชี 905-0-02515-5

หมายเหตุ : ค่าลงทะเบียนการอบรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

สถานที่อบรม

ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)

วุฒิบัตร

ผู้เข้าอบรมจะได้รับใบประกาศจะต้องมีเวลาเข้าอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80

อบรมระหว่างวันที่ 16 กันยายน – 30 พฤศจิกายน 2567
ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ช่วงเย็น (ยกเว้นวันพุธบางวัน) และวันเสาร์เต็มวัน
ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)